“ลิ้มรสชาติกิมจิฉบับไทย” ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีประจำประเทศไทย สนับสนุนการรังสรรค์กิมจิสูตรท้องถิ่น

ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีประจำประเทศไทย (KCC Thailand) จัดการแข่งขันออนไลน์ภายใต้หัวข้อ “กิมจิ กินใจ กินได้ กินดี” เมื่อมิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมกิมจิซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์อาหารเกาหลีได้ชัดเจนที่สุด อีกทั้งเป็นที่นิยมในประเทศไทยอย่างมาก ส่งผลให้มีการส่งสูตรกิมจิแบบใหม่มาแข่งขันกว่า 42 สูตร โดยใช้วัตถุดิบท้องถิ่นของไทย อาทิ กล้วยดิบ มะม่วงดิบ ทุเรียน มังคุดและกระชาย เป็นต้น ผู้เข้าแข่งขันอยู่ในกลุ่มอายุต่างๆ ตั้งแต่กลุ่มอายุ 20 ถึง 50 ปี และมาจากหลากหลายอาชีพ เช่น ศิลปิน ครู พนักงานร้านอาหาร ฯลฯ เป็นที่น่าประทับใจมากที่ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่มีความรู้เกี่ยวกับวิธีการทำกิมจิเป็นอย่างดี หลายสูตรได้รักษาส่วนผสมหลัก นำแป้งข้าวเหนียวมาทำแป้งเปียกสำหรับหมักกิมจิ และปรุงรสด้วยพริกป่นเกาหลีเหมือนกิมจิแบบดั้งเดิม บางสูตรปรับเครื่องปรุงโดยการใช้พริกไทยหรือมะเขือเทศ

 

 

สำหรับการตัดสินทาง KCC Thailand ได้เชิญเชฟมืออาชีพที่มีชื่อเสียงในประเทศไทย 4 ท่านมาร่วมตัดสิน ซึ่งผลการแข่งขันปรากฏว่า “กิมจิกล้วยน้ำว้า” โดยคุณจุรีพร ดวงกลาง เป็นผู้ชนะเลิศ เชฟมิว ผู้ที่ทำงานในร้านอาหารมิชลิน 1 ดาว “น้ำ” กล่าวว่า “การนำกล้วยดิบมาทำอาหารหมักคือความคิดสร้างสรรค์” ส่วนเชฟยุน แดซุก จากร้านอาหารเกาหลี “เมียงคา (Myeongga)” แสดงความคิดเห็นด้วยความชื่นชมว่า “มีความเชื่อมโยงกับกิมจิมาก” อันดับที่ 2 ได้แก่ “กิมจิเปลือกแตงโม” และ “กิมจิสายบัว” ซึ่งเชฟนัตตี้ จากโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท กรุงเทพฯ ได้กล่าวว่า “การใช้เปลือกแตงโมเป็นส่วนประกอบอาหารเป็นความคิดที่ดีมาก” ขณะที่เชฟชิม ยองแด เชฟชาวเกาหลีในโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท กรุงเทพฯ กล่าวว่า “กิมจิสายบัว” ทำให้นึกถึงกิมจิเถามันเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในกิมจิที่เป็นเอกลักษณ์ของเกาหลี อันดับที่ 3 ได้แก่ กิมจิถั่วพู กิมจิหน่อไม้ และกิมจิผักบุ้ง ซึ่งได้คะแนนสูงในเชิงความคิดสร้างสรรค์และความสามารถทางการตลาด

 

ความนิยมของกิมจิในประเทศไทยก็เกี่ยวข้องกับการเติบโตของตลาดเช่นกัน ตามรายงานของ องค์กรการค้าเกษตรกรรมและการประมงเกาหลี หรือ Korea Agro-Fisheries & Food Trade Corporation (AT) ระบุว่าปริมาณการส่งออกกิมจิจากเกาหลีมายังประเทศไทยเพิ่มขึ้น 162% จาก 0.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2019 เป็น 1.28 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 และดูเหมือนว่าการใส่ใจด้านสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้นท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 และอิทธิพลจากคอนเทนท์เกาหลี เช่น ‘Itaewon Class’ ซีรีส์เกาหลีที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับอาหารเกาหลี ส่งผลต่อตลาดกิมจิให้เพิ่มสูงขึ้น

 

ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีประจำประเทศไทยจะแนะนำสูตรกิมจิแบบฉบับไทยสู่สาธารณะผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ และพยายามหาช่องทางการค้าโดยการร่วมมือกับร้านอาหารเกาหลีในประเทศไทยต่อไป