ในวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมาก คณะสถานเอกอัครราชทูตเกาหลีประจำประเทศไทย นำโดย ฯพณฯนายมุน ซึงฮยอน เอกอัครราชทูต และศูนย์วัฒนธรรมเกาหลี จัดมอบอุปกรณ์และชุดกีฬาเทควันโดและสาธิตการเรียนการสอนพิเศษให้กับนักเรียนนักศึกษาวิชาเทควันโดจำนวน 200 คน ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผู้ฝึกสอนเทควันโดนายขวัญชัย วัฒนศักดิ์ ได้สอนเทควันโดที่มอ. ปัตตานี มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 ได้นำนักกีฬาตัวแทนภาค 4 มาแสดงโชว์การร่ายรำเทควันโดพุมเซ่ เพื่อต้อนรับคณะด้วย
เอกอัครราชทูตมุน ได้บริจาคสนับสนุนอุปกรณ์เทควันโด เช่น ชุดเทควันโด แผ่นพื้นและนวม และกล่าวว่า “เทควันโดเป็นกีฬาที่เล่นได้ทุกเพศทุกวัยและทุกศาสนาสามารถออกกำลังกายร่วมกันในภาคใต้แห่งนี้ เทควันโดเป็นสะพานเชื่อมระหว่างเกาหลีและไทยและผมหวังว่ามันจะช่วยทำให้เกิดการพัฒนาในท้องถิ่น”
หลังจากนั้น โค้ช ชเว ยองซอก และโค้ชเล็ก ชนาธิป ผู้ฝึกสอนเควันโดทีมชาติไทย ได้แนะนำเทคนิคการซ้อมเทควันโดสำหรับการแข่งขันให้กับนักเรียนเพื่อเตรียมตัวเป็นนักกีฬาเทควันโดทีมชาติ
จากนั้นเอกอัครราชทูตได้พบปะกับนักศึกษาเอกภาษาเกาหลีจำนวน 50 คน ที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งเป็นแห่งแรกที่เปิดสอนวิชาเอกภาษาเกาหลีในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 และได้พูดคุยเกี่ยวกับแรงบันดาลใจในการเรียนภาษาเกาหลีและเส้นทางอาชีพในอนาคตเป็นเวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง
เมื่อวันที่ 13 กันยายน คณะได้จัดกิจกรรมวัฒนธรรมอาหารเกาหลีขึ้นสำหรับนักศึกษา 150 คน ณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เพื่อให้นักศึกษาสัมผัสประสบการณ์การทำอาหารในเมนู คิมบับอูยองอู ที่นิยมมากจากซีรีส์เกาหลี “อูยองอู ทนายอัจฉริยะ” เอกอัครราชทูตมุนก็ได้ลงมือสาธิตและพานักศึกษาทำด้วยตัวเองอีกด้วย
เช้าวันที่ 15 กันยายน รมต. ว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ ให้การต้อนรับเอกอัครราชทูตมุนและคณะ พาทำกิจกรรมปล่อยเต่าตนุที่ใกล้สูญพันธุ์สู่ทะเล ณ หาดสมิหลา และพาเยือนชมเมืองเก่าและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา เพื่อหารือถึงความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวและกีฬาของทั้งสองประเทศต่อไป
ระหว่างการเยือนจังหวัดภาคใต้ของไทย เอกอัคราชทูตมุนกล่าวว่า “ในฐานะเอกอัครราชทูตรู้สึกขอบคุณที่ชาวใต้มีความสนใจในภาษาเกาหลีและเทควันโดเป็นอย่างมาก สถานทูตและศูนย์วัฒนธรรมเกาหลี จะให้การสนับสนุนในหลากหลายแง่มุมเพื่อให้ภูมิภาคนี้สามารถพัฒนาต่อไปได้ และให้สอดคล้องและกลมกลืนกับศาสนาและวัฒนธรรมท้องถิ่น”