นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เลขาธิการสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย สมาคมโรงสีข้าวไทย คณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ร่วมมอบรางวัล การประกวดข้าวเปลือกหอมมะลิของประเทศไทยปีการเพาะปลูก 2563/64 ครั้งที่ 39 การประกวดข้าวสารถุงคุณภาพดีเด่น ประจำปี 2564 ณ ห้องประชุมบุรฉัตรไชยากร ชั้น 4 สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยนายจุรินทร์เป็นประธาน
นายจุรินทร์ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะเข้าไปดูแลเกษตรกรผู้ปลูกข้าวและสนับสนุนส่งเสริมให้มีการปลูกข้าวคุณภาพโดยต่อเนื่อง
ประการที่หนึ่ง คือ นโยบายประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 5 ชนิด เป็นนโยบายที่เป็นหลักประกันชัดเจนว่ายามใดที่ราคาข้าวในตลาดตกต่ำ รัฐบาลมีหลักประกันรายได้ เช่น ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท หากราคาต่ำกว่ารายได้ที่ประกันจะมีเงินส่วนต่างเพื่อมาเยียวยาให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเจ้า ทำให้เกษตรกรมีรายได้รวมเป็น 10,000 บาท ตามรายได้ที่ประกัน ผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ ประกันรายได้ตันละ 15,000 บาท เป็นต้น ต้องการให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวยังชีพอยู่ได้และไม่ต้องเลิกอาชีพนี้ไปทำอย่างอื่น แต่ขอให้ท่านปลูกข้าวที่มีการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ
ประการที่สอง นโยบายการส่งเสริมการส่งออกข้าว ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับสมาคมผู้ส่งออก ข้าวไทยและภาคเอกชน จะเป็นหัวเรือหลักหาตลาดในต่างประเทศและส่งออกข้าว เดือนกันยายนปีนี้ ข้าวหอมมะลิส่งออกได้ 90,600 ตัน ซึ่งตัวเลขเริ่มดีขึ้น เพราะครึ่งปีแรกราคาเราสู้ไม่ได้ส่วนหนึ่งเพราะค่าเงินบาท แข็งมาก ทำให้ประเทศผู้ซื้อมาซื้อข้าวคู่แข่งมีราคาถูกกว่า วันนี้ค่าเงินบาทเริ่มอ่อนทำให้ประเทศผู้ซื้อมีความรู้สึกว่าราคาของเราถูกลงสามารถสู้ราคาคู่แข่งได้ คนก็หันมาซื้อข้าวของเรามากขึ้นเพราะมั่นใจคุณภาพของข้าวเรามากกว่า เดือนกันยายนส่งออกข้าวหอมมะลิ + 45.76% ดีในหลายตลาด เช่น สหรัฐฯ ฮ่องกง สิงคโปร์และจีน เป็นต้น และปลายปีคาดว่าจะดีขึ้นอีก ซึ่งเป็นนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ที่ชัดเจนในการส่งเสริมการส่งออกข้าวและที่สำคัญที่สุด ปีที่แล้วเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ประเทศไทยมียุทธศาสตร์ข้าวเกิดขึ้นและผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว
โดยตนได้เป็นประธานคณะกรรมการในการจัดทำยุทธศาสตร์ข้าว นำเสนอผ่านที่ประชุมคณะกรรมการ นโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ที่ท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้รับความเห็นชอบแล้ว ยุทธศาสตร์ข้าวไทยในช่วง 5 ปีถัดไปนี้ กำหนดเป้าหมายที่จะทำให้ประเทศไทย เป็นผู้นำด้านการผลิต การส่งออกข้าว และผลิตภัณฑ์ข้าวคุณภาพของโลก โดยใช้ยุทธศาสตร์ ตลาดนำการผลิต และมีการกำหนดเป้าหมายไว้ชัดเจนว่าต้นทุนการผลิตข้าวและการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้นเป็นเท่าไหร่ และตลาดใหม่ที่จะเปิดเพิ่มมีอะไรบ้าง
ที่สำคัญที่สุด คือ เรื่องพันธุ์ข้าว ที่ยังพัฒนาพันธุ์สู้คู่แข่งในตลาดไม่ได้ สุดท้ายเราจะแข่งขันในตลาดโลกไม่ได้ เพราะผลิตภัณฑ์ข้าวเราเริ่มไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลก ที่ตลาดโลกต้องการข้าวพื้นนุ่มมากไปเรื่อยๆ แต่เรายังไม่สามารถพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นนุ่มเพิ่มเติม เพื่อสร้างความหลากหลายสนองความต้องการของตลาดโลกได้อย่างทันท่วงที ยุทธศาสตร์ข้าวไทยกำหนดชัดเจนว่าใน 5 ปีนี้ เราต้องพัฒนาพันธุ์ข้าวที่เป็นพันธุ์ใหม่ให้ได้อย่างน้อย 12 พันธุ์ เป็นข้าวพื้นแข็ง 4 พันธุ์พื้นนุ่ม 4 พันธุ์ ข้าวหอม 2 พันธุ์ พันธุ์ข้าวมูลค่าสูงที่ตรงกับความต้องการของตลาดโลกอีก 2 พันธุ์ รวมเป็น 12 พันธุ์ ซึ่งเป็นทิศทางที่เราต้องเดินไปและเมื่อยุทธศาสตร์ข้าวไทยเกิดขึ้น จากนี้จะสำเร็จมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับหน่วยปฏิบัติทางกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงอื่นๆ สถาบันวิจัยพัฒนา มหาวิทยาลัยและภาคเอกชน เกษตรกรไทย ต้องร่วมมือกัน เพื่อผลักดันให้เป้าหมายของยุทธศาสตร์ข้าวไทยบรรลุผลภายใน 5 ปีให้ได้
“และวันนี้เป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของการสนับสนุนยุทธศาสตร์ข้าวไทยที่ต้องการส่งเสริมข้าวหอมมะลิไทยให้คงผงาดในตลาดโลกต่อไปได้ ส่งเสริมการผลิตข้าวถุงคุณภาพสนองความต้องการของตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศต่อไป จึงเป็นการประกวดข้าวเปลือกหอมมะลิไทย ที่ผลิตโดยเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เกษตรกรมี 18 รางวัล สถาบันเกษตรกรมี 3 รางวัล และมีการประกวดข้าวสารถุงไทยที่มีแบรนด์ต่างๆจำนวน 12 รางวัล ซึ่งเป็นทั้งข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมไทย ข้าวพื้นนุ่ม ข้าวพื้นแข็ง ข้าวเหนียวอีสานและข้าวเหนียวเหนือ เป็นต้นนอกจากนี้ภายในงานยังมีการทำ MoU กับไอคอนสยาม พารากอนและกูร์เมต์มาร์เก็ตเพื่อส่งเสริมการตลาดข้าวไทยให้ไปพงาดทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศของเราต่อไปได้ และมีการให้พื้นที่จำหน่ายโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อส่งเสริมเกษตรกรผู้ชนะการประกวดข้าวเปลือกหอมมะลิให้มีช่องทางการจำหน่ายและมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น” นายจุรินทร์ กล่าวรายงานจากกรมการค้าภายในระบุว่า
ผู้ชนะการประกวดประเภทเกษตรกรรายบุคคล ได้แก่ 1. นางสุดสดา ซองศิริ จ.นครพนม ได้รับรางวัลชนะเลิศ 2. นายฐาปกรณ์ เปดี จ.หนองบัวลำภู รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง 3. นางเยี่ยม พรมยา จ.ร้อยเอ็ด รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง และยังมีรางวัลชมเชยอีก 15 รางวัล สำหรับผู้ชนะประเภทสถาบันเกษตรกร ได้แก่ 1. สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินชุมพลบุรี จำกัด จ.สุรินทร์ ได้รับรางวัลชนะเลิศ 2. วิสาหกิจชุมชนข้าวหอมมะลิงาม 105 จ.ร้อยเอ็ด รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง และ 3. กลุ่มนาแปลงใหญ่ข้าว ตำบลชุมภูพร จ.บึงกาฬ รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง